พลาสติก rPET กับเศรษฐกิจหมุนเวียน

          เศรษฐกิจหมุนเวียน (Cicular Economy) เป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นับเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐสำหรับทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีในหลายๆประเทศ การนำขยะที่เป็นขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) เช่น ขวดน้ำดื่ม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นำกลับมารีไซเคิลเพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกที่เรียกว่า recycled PET หรือ rPET เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าต่างๆ เช่น เส้นใย สิ่งทอ เสื้อผ้า เป็นต้น

 

ตลอดจนการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เม็ดพลาสติกมากที่สุด นับว่าเป็นวิธีการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า

แต่สำหรับประเทศไทยเองการนำมาเป็นแพ็กเกจหรือบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไม่สามารถดำเนินได้เนื่อง จากติดขัดกฎหมาย ประ-กาศกระทรวงสาธารณสุขปี 2548 ที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้น แต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ที่ไม่รับประทานเปลือก”

กรณีดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายต่างร่วมหาทางปลดล็อกอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อีกทั้งยังเติมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจในประเทศ

 

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการด้านนี้และมอบหมายให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET

รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ทำวิจัยการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากวัตถุดิบ (ขยะขวด PET) เพื่อกำหนดค่าความปลอดภัยใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงของประเทศ โดยใช้หลักการทางพิษวิทยาคือการคำนวณหาอัตราสูงสุดของสารเคมีตกค้างที่สามารถยอมรับได้ อยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายได้ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการมาหนึ่งปีเต็ม โดยจะนำข้อมูลเสนอต่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการอีกครั้ง

 

สำหรับผลการวิจัยพบว่า โมเดลของสหรัฐฯ มุ่งไปที่การคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย การสุ่มพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ผู้บริโภคทั่วประเทศจำนวน 1,746 รายพบว่า บรรจุภัณฑ์ในพลาสติก PET รูปแบบขวดคือขวดน้ำดื่ม น้ำหวานและอื่นๆ ผู้บริโภคใช้สูงสุดในแต่ละวันเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อาหารอื่นๆ

“ทำให้เราได้ค่าตัวเลขต่างๆที่สามารถนำมาคำนวณใช้เป็นค่าอ้างอิง เป็นค่าที่ยอมรับได้ว่าจะให้มีสารตกค้างใน rPET ได้สูงสุดระดับใด หากมีการปนเปื้อนมายังอาหารที่บรรจุแล้วจะยังคงปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” รศ.ดร.ชนิพรรณกล่าว

ขั้นตอนต่อไปทาง อย. จะต้องกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ เป็นคู่มือปฏิบัติให้ผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขออนุญาตการใช้ rPET หากพร้อมดำเนินการแก้ไขประกาศของกระทรวงสาธารณสุขได้เร็วเท่าไรก็จะเร่งลดปริมาณขยะขวดพลาสติก PET ได้มากเท่านั้น จากการที่เอกชนผลิตออกสู่ตลาดปีละ 3 แสนตัน

 

ด้านภาคเอกชนได้ออกมาขานรับนโยบายของรัฐบาล โดย “ริชาร์ด โจนส์” รองประธานอาวุโส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเข้าใจ อย.ต่อการปนเปื้อนและความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น แต่หาก อย.จะกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานขึ้นเองมองว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมีความเหมาะสมในทางปฏิบัติโดยเฉพาะความท้าทายในเรื่องของต้นทุนการรีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้นมากและอาจไม่จูงใจพอสำหรับการลงทุน

ขณะที่ปัญหาขยะของประเทศจะต้องได้รับการแก้ไข และการรีไซเคิลเป็นแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนที่สุด!!