หนังสือพิมพ์ข่าวสด
26 เม.ย. 2564-08:51 น.
https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6362425
ปลดล็อกพลาสติกรีไซเคิล สำหรับบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร – เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การนำขยะขวดพลาสติก PET เช่น ขวดน้ำดื่ม และขวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET หรือ rPET) และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ อาทิ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้า ผ้าม่าน พรม และอีกมากมาย ถือเป็นวิธีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
เรื่องที่หลายคนยังไม่ทราบ นั่นคือ การใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนั้น ในประเทศไทยไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมายซึ่งเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขปี 2548
ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางปลดล็อกอย่าง เร่งด่วน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ BCG โมเดลเป็นวาระแห่งชาติ คือ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green)
ช่วงต้นปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ารายงานการวิจัยจากสถาบันโภชนาการว่าด้วยแนวทางและศักยภาพการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี (2563-2564) ปัจจุบันเสร็จสิ้นโครงการแล้ว
มีสาระสำคัญคือ การประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากขยะขวดพลาสติก PET ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย หากได้รับสัมผัสจากการบริโภคอาหารที่ถูกบรรจุในภาชนะบรรจุที่ทำจาก rPET โดยตัวเลขที่ได้นี้มาจากงานวิจัยเท่านั้น แต่การที่จะยอมรับและนำไปใช้ได้จริง ทางอย.จะต้องนำข้อมูลที่ได้เข้าสู่การพิจารณาจากกลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการอีกครั้ง
หากอย.มีการปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่อนุญาตให้ใช้ rPET ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ผู้บริโภคก็วางใจในความปลอดภัยได้ เช่นกัน