Blog

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ มี.ค.64 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เอกชนชงรัฐล็อกดาวน์โซนสีแดง เร่งฉีดวัคซีน

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ มี.ค.64 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เอกชนชงรัฐล็อกดาวน์โซนสีแดง เร่งฉีดวัคซีน ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 87.3 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนก่อน ส.อ.ท. วอนรัฐล็อกดาวน์เพื่อคุมสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว พร้อมทั้งช่วยหนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อเร่งฉีดให้เร็วขึ้น วันอังคารที่ 28 เมษายน 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิตรวมทั้ง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,351 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2564 – ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 51.2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 46.1 – ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 63.2, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 52.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 33.5 ตามลำดับ สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง 2. เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน 3. สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 4. ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 6. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids ที่มา : M Report https://www.mreport.co.th/news/statistic-and-ranking/346-Industrial-Sentiment-Index-Mar-2021-Thailand?utm_source=fb&fbclid=IwAR2VZEWZ16JfQgADjeS7auGCNY8YT0d0-pmZVvCSvRrTzZnzRSZ0L-udTks

ส.อ.ท. กำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs นำร่องผลักดัน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม

ส.อ.ท. กำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs นำร่องผลักดัน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท. มุ่งสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs นำร่องผลักดัน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก วันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) นำร่องใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่ระดับสูงสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการช่วยผลักดันให้ ส.อ.ท. ก้าวสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) ดังนั้น นับจากนี้ ส.อ.ท. ก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และเป็นหน่วยงานที่สำคัญเพราะถือเป็นผู้ผลิตซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1 ใน 3 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ใช้ และนักวิชาการ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับการรับรองเป็น SDOs ในครั้งนี้ จะทำให้ ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยร่วมกับทาง สมอ. ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ” “ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้ สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดมาตรฐานให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกัน” นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะสามารถทำมาตรฐานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการที่จะมีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภค, สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เพราะต่อไป หากสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยจะต้องขอมาตรฐานที่เรากำหนดขึ้นด้วย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ,สิ่งทอ ,เซรามิก, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม โดยมาตรฐานต่างๆ จะสำเร็จออกมาใช้ได้น่าจะอยู่ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ โดยเร่งในกลุ่มสินค้าสำคัญและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ตู้แช่วัคซีน ซึ่งทุกกลุ่มมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมมือกันในการเป็น SDOs ในครั้งนี้” ที่มา : M Report https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/347-FTI-qualified-the-standard-developing-organizations

สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เร่งออกมาตรฐานควบคุมภายในปีนี้

สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เร่งออกมาตรฐานควบคุมภายในปีนี้ “สุริยะ” จี้ สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุม ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ เคมี วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ภายในปีนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถดึงความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ และในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมนอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนโดยปกติ ซึ่งมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ “ผมได้เร่งรัดให้ สมอ. เร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เข้มงวด และควบคุมสินค้าที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุมด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งสิ้นจำนวน 361 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve จำนวน 117 เรื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve จำนวน 60 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและอื่นๆ จำนวน 113 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เกษตรแปรรูป พลาสติก ยาง สมุนไพร นวัตกรรม เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นฐานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 71 เรื่อง ได้แก่ เครื่องกล เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง และโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไตรมาส 2 สมอ. กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้นกว่า 250 เรื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายในไตรมาสที่ 4 อย่างแน่นอน “ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานใหม่ที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกทั้งหมด 43 รายการ เช่น ยางหล่อดอกซ้ำ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนเคลือบสังกะสี หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว กระดาษสัมผัสอาหาร ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค เครื่องฟอกอากาศ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เก้าอี้นวดไฟฟ้า และเครื่องเล่นสนาม ได้แก่ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน อุปกรณ์โยก เป็นต้น และนำมาตรฐานเดิมมาทบทวนและเสนอบังคับต่อเนื่องอีกจำนวน 21 รายการ เช่น มาตรฐานในกลุ่มสีย้อมสังเคราะห์ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเครื่องจักรกล เตารีดไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ เครื่องดับเพลิง และแบตเตอรี่มือถือ เป็นต้น โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 นี้ จึงขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งที่ทำในประเทศ และนำเข้า เพราะท่านจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานแต่ละรายการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อได้ที่ สมอ. หรือจะยื่นขอ มอก. ออนไลน์ผ่านระบบ E-license ได้ที่ https://itisi.go.th/e-license/ ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สมอ. กล่าว ที่มา : M Report https://www.mreport.co.th/news/government-news/313-TISI-unveils-to-set-standard-product-for-43-items-in-2021?utm_source=timeline